เชียงคาน

คำขวัญ เชียงคาน "เมืองคนงาม ข้าวหลามยาว มะพร้าวแก้ว เพริศแพร้วเกาะแก่ง แหล่งวัฒนธรรม น้อมนำศูนย์ศิลปาชีพ"

ก่อนเที่ยวหรือหาที่พักลองมาอ่านที่พักเชียงคาน ที่ผมแนะนำก่อนดูก่อน แต่ละที่มีจุดเด่นแตกต่างกันคนละแบบไม่ว่าจะเป็นราคา หรือทำเลดีริมแม่น้ำโขง

รีวิว โรงแรมศรีเชียงคาน

รีวิว วงค์สายสิริ ศรีเชียงคาน

รีวิว ริเวอร์ไซด์ เชียงคาน

รีวิว เชียงคาน แกลอรี่ รีสอร์ท

รีวิว เชียงคาน ริเวอร์ เมาท์เทน

ในมุมมองสำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว เชียงคาน เปรียบเสมือน เมืองคู่แฝดกับ ปาย ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาได้รับความนิยมอย่างมากหลายคนที่ไปเที่ยวปายมาแล้วมักจะคาดหวังกลิ่นไอความเป็นเมืองเก่า บ้านไม้เล็กๆ ถนนคนเดิน แสงสียามค่ำคืน บรรยากาศริมน้ำที่เหมือนๆ กัน จากที่ผมได้ไปสำรวจมาหลายครั้ง ก็ยังเรียกได้ว่า เชียงคาน ยังไม่ฟุ้งเฟ้อนัก ร้านค้ายังไม่ได้มุ่งหวังเพียงเพื่อกำไรมากนัก ราคาที่พักแถวถนนคนเดินริมโขง ราคาไม่แพงประมาณหลักร้อย

เมืองเชียงคาน เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเลย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เคยเป็นราชธานีหรือเมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือราชอาณาจักรลาวมาก่อน เมืองเชียงคานเก่า หรือเมืองสานะคาม (ชนะสงคราม) ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ทางยุทธศาสตร์สมัยราชอาณาจักรล้านช้าง ถูกก่อสร้างโดย ขุนคาม โอรสของขุนคัวแห่งอาณาจักรล้านช้าง เมื่อประมาณปีพ.ศ. 1400 ต่อมาประมาณปีพ.ศ. 2250 ทางเวียงจันทร์ได้ตั้งเมืองเชียงคานเดิม ซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเป็นเมืองหน้าด่าน ต่อมา พ.ศ. 2320 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระสุรสีห์ ยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทร์ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต กลับมายังกรุงธนบุรี แล้วได้รวมอาณาจักรล้านช้างเข้าด้วยกันและให้เป็นประเทศราชของไทย แล้วได้กวาดต้อนผู้คนมาอยู่เมืองปากเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เมืองปากเหืองขึ้นกับเมืองพิชัย


ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพไทยยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมา เนื่องจากเจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทร์คิดกอบกู้เอกราชเพื่อแยกเป็นอิสระจากไทย หลังจากปราบได้สำเร็จแล้ว ก็ไปกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาอยู่เมืองปากน้ำเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ไปขึ้นกับเมืองพิชัย


ครั้นถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกจีนฮ่อได้ยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบางและได้เข้าปล้นสดมภ์เมืองเชียงคานเดิมที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ชาวเชียงคานเดิมจึงอพยพผู้คนไปอยู่เมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) เป็นจำนวนมาก ครั้นต่อมา เห็นว่าชัยภูมิเมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) ไม่เหมาะสม ผู้คนส่วนใหญ่จึงอพยพไปอยู่ที่บ้านท่านาจันทร์ซึ่งใกล้กับที่ตั้งของอำเภอเชียงคานปัจจุบัน แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองใหม่เชียงคาน ต่อมาไทยได้เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ทำให้เมืองปากเหืองตกเป็นของฝรั่งเศส คนไทยที่อยู่เมืองปากเหืองจึงอพยพมาอยู่เมืองใหม่เชียงคาน หรืออำเภอเชียงคานปัจจุบันโดยสิ้นเชิง “แล้วได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองเชียงคานใหม่” ได้ตั้งที่ทำการอยู่บริเวณวัดธาตุ เรียกว่าศาลาเมืองเชียงคาน ต่อมาได้ย้ายที่อยู่บริเวณวัดโพนชัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2452 เมืองเชียงคานซึ่งมีพระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี ศรีประเสริฐ) ได้รับตำแหน่งนายอำเภอเชียงคานคนแรก ต่อมาปี พ.ศ. 2484 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเชียงคานมาอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันตราบเท่าทุกวันนี้

 

"เชียงคาน เมืองโบราณ ที่ไม่ล้าสมัย"

เมืองเชียงคาน ในปัจจุบันเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ในสายตาของนักท่องเที่ยว เป็นชุมชนที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาได้ยาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งเพิ่งจะมีการจัดงานฉลอง "100 ปี เชียงคาน เมืองโบราณ ริมฝั่งโขง" ไปเมื่อวันที่ 4-6 ธันวาคม 2552 เพื่อเป็นการอนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์ให้คงอยู่สืบไป


เมืองเชียงคาน เมืองโบราณ.. บ้านไม้เก่าๆ ร้านกาแฟ มุมหนังสือเล็กๆ เท่านั้น แต่กลับมีนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว เดินเที่ยวกันให้เต็มไปหมด อาจจะด้วยเพราะเมืองเชียงคานนี้เงียบสงบ บรรยากาศดี ด้วยการที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์แต่ผสมผสานกับความเป็นสมัยใหม่ที่ไม่มากจนเกินไปได้อย่างลงตัวในแบบฉบับของเชียงคาน ผู้คนที่เชียงคานก็เป็นมิตร อัธยาศัยดี และการไปเที่ยวที่เชียงคานก็ไม่แพงจนเกินกำลัง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเชียงคานแห่งนี้ ก็จะเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น หลายๆ สิ่งที่เชียงคานอาจเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม เชียงคานจะไม่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราทุกคนยังคงช่วยกันรักษาความเป็นเอกลักษณ์ ดำรงวิถีชีวิตในแบบของเชียงคานสืบไป ความเป็นเชียงคานที่คงความเป็นเอกลักษณ์ได้ยาวนานกว่าร้อยปี ก็จะเป็นเช่นเดิมตลอดไป...

 

Visitors: 39,475